ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับงาน Content Marketing

งานคอนเทนต์มักถูกละเลย และการดำเนินงานจะเป็นไปในแนวทางวันต่อวัน หรือ ทำตามบรีฟเป็นรายชิ้น (ซึ่งส่วนมากคือตามใจฉัน) ที่ส่งมาจากหน่วยงานอื่นๆ ต้องขอแสดงความเสียใจสำหรับผู้ที่ตกอยู่ในบ่วงงานคอนเทนต์ที่ไร้ทิศทาง และ โอกาสประสบความสำเร็จที่แสนจะรำไร

การดีไซน์ข้อความหรือเนื้อหา แล้วนำไปโพสต์ลงสื่อออนไลน์ (พร้อมแคปชั่น หรือ # ที่โคตรจะคูล) เป็นเพียงงานในด้านศิลป์ เท่านั้น แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณสามารถหยิบคำว่า ศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการมีแบบแผนและการวางกลยุทธ์ ลงไปใช้งานได้ด้วย นั่นแหละถึงจะเข้าสู่งานที่เรียกว่า Content Marketing

การจุกจิกกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แล้วอาศัยความชอบส่วนบุคคล (Subjective) ในการตรวจงาน ถือเป็นปัญหาที่มีอาการหนักเข้าขั้นโคม่า เพราะบางครั้งผมจะรู้สึกว่าทำไมไม่เอาเวลา “เรื่องมาก ให้ได้น้อย” เหล่านี้ ไปวางกลยุทธ์งานคอนเทนต์ ให้เจ๋งๆ ไปเลยดีกว่ามั้ย ?

ทำไมต้องวางกลยุทธ์ Content Marketing ด้วยล่ะ

การมี Content Strategy ที่ชัดเจน จะช่วยให้ทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องเห็นภาพรวมทั้งหมดส่งผลให้เข้าใจถึงแนวทางและมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน ทั้งกับหน่วยงานหรือทีมที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ทีม Media Planner, ทีม Creative, ทีม Graphic Design ทีม Web Developer หรือ UX/UI Developer และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรองลงมา เช่น ทีมกำกับดูแล ทีมสื่อสารองค์กร ทีมผลิตภัณฑ์ ทีมขาย เป็นต้น

เมื่อกลยุทธ์ชัดเจน การกำหนดวิธีการหรือกลวิธีจะง่ายขึ้น กระบวนการสร้างคอนเทนต์ก็จะไม่เสียเวลากับการหว่านแห หรือ การแก้ไขงานแบบไร้เหตุผล เพราะทุกฝ่ายต้องเคารพใน Master Plan ที่วางไว้ด้วยกัน ขณะเดียวกันการหวังพึ่งใช้แต่เงินช่วยโฆษณา ถึงจุดหนึ่งปลาใหญ่จะกินปลาเล็กจนหมด ดังนั้นการติดอาวุธด้วยสิ่งที่เรียกว่า กลยุทธ์ ให้งานคอนเทนต์ จึงเป็นทางเลือกสำหรับการต่อสู้กันในระยะยาวนั่นเอง

ที่มา:contentshifu

SOCIALICON